คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับกองทุนเงินทดแทน? ที่นายจ้างและลูกจ้างถามบ่อย เมื่อเกิดข้อสงสัย เมื่อเกิดปัญหา

1.ลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงาน  นายจ้างต้องทำอย่างไร ?
– ให้ลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสม  โดยสามารถเข้ารับการรักษาได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐบาล และเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุด
– แจ้งการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ที่สำนักงานประกันสังคมที่บริษัทตั้งอยู่หรือที่ลูกจ้างประจำทำงาน ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่นายจ้างทราบ
2.พึ่งรับลูกจ้างเข้าทำงาน  สามารถใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนได้หรือไม่ ?
     – ลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานสามารถใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนได้ตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงานให้นายจ้าง  
3.ลูกจ้างเกิดอุบัติเหตุตอนเดินทางไปทำงาน  ใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนได้หรือไม่ ?
     – ไม่สามารถใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนได้  เนื่องจากการประสบอันตรายที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการปฏิบัติงานให้กับนายจ้าง  แต่สามารถใช้สิทธิกองทุนประกันสังคมได้
4.ลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงาน ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือไม่ ?
     – สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลได้ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
1. นายจ้าง/ลูกจ้าง สำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน  นำใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์เบิกค่ารักษาพยาบาลคืนได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา
2. เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน  นายจ้างทำหนังสือส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล (แบบ กท. 44) โดยไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล  สถานพยาบาลจะเรียกเก็บจากกองทุนเงินทดแทนในวงเงินที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

5.ลูกจ้างเสียชีวิตจากการทำงาน ใครเป็นผู้ได้รับสิทธิ อย่างไรบ้าง ?
        –  ค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพ 40,000 บาท
        –   ค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน เป็นเวลา 10 ปี แก่ผู้มีสิทธิ
1. มารดา
2. บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย
3. สามีหรือภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย
4. บุตรอายุต่ำกว่า 18 ปี
5. บุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่ยังศึกษาอยู่ในระดับที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี  ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่
6. บุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี และทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย
7. บุตรของลูกจ้างซึ่งเกิดภายใน 310 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือวันที่เกิดเหตุสูญหาย มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตั้งแต่วันคลอด
8. หากไม่มีบุคคลดังกล่าวข้างต้น  ให้ผู้อยู่ในอุปการะของลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายเป็นผู้มีสิทธิ  แต่ผู้อุปการะดังกล่าวจะต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะจากลูกจ้างตายหรือสูญหาย

6.แรงงานต่างด้าวได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทนหรือไม่ ?
      – แรงงานต่างด้าวได้รับความคุ้มครองโดย
1. แรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมาย  ทำงานกับนายจ้างที่มีหน้าที่ขึ้นทะเบียนและจ่ายเงินสมทบสามารถขึ้นทะเบียนเป็นลูกจ้าง  เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานจะได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน
2. แรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  ถึงแม้ทำงานกับนายจ้างที่มีหน้าที่ขึ้นทะเบียนและจ่ายเงินสมทบ  เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน  นายจ้างจะต้องเป็นผู้จ่ายเงินทดแทนให้กับลูกจ้าง
3. แรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมาย  และไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อยู่กับนายจ้างที่ยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนและจ่ายเงินสมทบ  เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน นายจ้างจะต้องเป็นผู้จ่ายเงินทดแทนให้กับลูกจ้าง
โดยแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 กลุ่มจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เช่นเดียวกัน
7.ลูกจ้างพบอาการผิดปกติหลังออกจากงาน สามารถใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนได้หรือไม่ ?
        –  ได้  ในกรณีมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นภายหลังการสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง  แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผลมาจากการทำงานที่ผ่านมา  สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมที่ลูกจ้างทำงานอยู่ หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนาได้ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทราบการเจ็บป่วย
8.การคำนวณเงินทดแทน การขาดรายได้ของกองทุนเงินทดแทนใช้ฐานใด?
        – คำนวณจากค่าจ้างสูงสุดที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบหารด้วยสิบสอง  ซึ่งปัจจุบันค่าจ้างที่นำมาคำนวณเงินสมทบเท่ากับ 240,000 บาท/ปี  หารด้วย 12 = 20,000 บาท  ดังนั้นค่าจ้างสูงสุดในการคำนวณค่าทดแทนรายเดือนเท่ากับ 20,000 บาท

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *